คงมีหลายคนสงสัยว่าการถ่ายภาพก่อนแต่งงาน หรือที่เรียกกันว่า Pre-wedding เริ่มเป็นธรรมเนียมกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ จริง ๆ แล้ว ไม่ได้มีบทบัญญัติหรือกฎธรรมเนียมใดว่าคู่รักทุกคู่จะต้องมีการถ่ายภาพ Pre-wedding แต่เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไป ความเจริญของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของผู้คน จึงอาจจะส่งผลให้เกิดสไตล์ใหม่ ๆ ของการถ่ายภาพขึ้นมา รวมไปถึงคู่รักอาจจะอยากมีภาพสวย ๆ ที่สามารถปริ้นไว้ดูเมื่อครบรอบวันแต่งงานในอีก 10-20 ปี ภาพที่บ่าวสาวหัวไม่กระเซิง หน้าไม่เยิ้ม ชุดยังไม่ยับ ภาพที่ทั้งคู่น่าจะดูรีแลกซ์ที่สุด
จากการพูดคุยกับบ่าวสาวถึงความเห็นของการถ่ายพรีเวดดิ้ง หลายคู่บอกว่าเป็นภาพที่ควรจะถ่ายเก็บไว้ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับวันแต่งงาน วันนั้นทั้งวันจะยุ่งวุ่นวาย เพราะมีพิธีการหลายอย่างตั้งแต่เช้าจรดเย็น จริงอยู่ที่ภาพในงานวันแต่งงานเป็นภาพที่บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ของวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของบ่าวสาว แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อยากจะมีภาพที่เป็นโมเมนต์กันเพียงสองคน ภาพที่เราอยากจะโพสต์ท่าที่ชวนให้คนดูรู้สึกอิจฉา
สำหรับช่างภาพในต่างประเทศการถ่ายภาพลักษณะนี้จะเรียกว่า Engagement Session ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วช่างภาพจะถูกจ้างให้ถ่ายภาพในวันแต่งงาน แต่ช่างภาพมักจะเสนอให้ลูกค้าถ่าย Engagement Session เพื่อที่จะใช้โอกาสนี้ได้ทำความรู้จักกับคู่บ่าวสาวก่อนวันถ่ายภาพในวันแต่งงาน และแนะนำถึงเทคนิคการอยู่หน้ากล้องอย่างไรไม่ให้เขินอาย รวมไปถึงได้รู้สไตล์และความชอบของลูกค้าในอีกทางหนึ่ง
อาจารย์นัท อาจารย์นิ่ม อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังซึ่งเป็นลูกหลานชาวอีสาน ที่กำลังจะเข้าพิธีสมรสในปลายปีนี้ได้เปิดภาพพรีเวดดิ้งที่เก๋ เท่ห์ มีสไตล์กลิ่นอายลูกทุ่งให้กับทางทีมงานของเราชม พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า ทั้งสองเป็นคนอีสานและเติบโตมาจากท้องนา มีความผูกพันธุ์กับลุ่มน้ำ และท้องนา การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งครั้งนี้จึงอยากให้ภาพสะท้อนความเป็นตัวตนของเราสองคนออกมาให้มากที่สุด สถานที่ที่ดูธรรมดาแต่มีความทรงจำ ชุดที่ดูเรียบง่ายแต่บอกสไตล์ของเรา
เมื่อได้สถานที่ และชุดแล้วสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พร๊อพ หรืออุปกรณ์ประกอบฉากที่จะทำให้ภาพดูสมบููรณ์ สวยงามขึ้น ภาพสไตล์ทุ่งนา ป่าฟาง พร๊อพก็คงเป็นอะไรที่หยิบจับหาง่ายอย่างที่ดักปลาอันนี้ ต้องยกไอเดียเก๋ ๆ นี้ให้กับเจ้าบ่าว และช่างภาพ ซึ่งเจ้าบ่าวนั้นมีดีกรีเป็นอาจารย์ที่สอนทางด้านการสื่อสารมวลชน เคยผ่านประสบการณ์ถ่ายงานแต่งทั้งวิดีโอ และภาพนิ่งมาแล้วมากกว่า 10 ปี ไอเดียจึงออกมาเป็นงานที่เท่ห์ สะท้านทุ่งแบบที่เห็นนี่ละครับ
เบื้องหลังภาพคูลล์ ๆ เหล่านั้นอีกหนึ่งคนที่ต้องยกเครดิตให้คือช่างภาพคนนี้ หนุ่มใต้เมืองคนดีศรีสุราษฎร์ ดีกรีหนุ่มนักเรียนนอกที่ไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียทางด้านฟิล์มและสื่อ หอบความรู้และไอเดียเก๋กลับบ้านทำงานด้านการผลิตสื่อทั้งวิดีโอและภาพนิ่ง ปัจจุบันเป็นพ่อค้าดูแลกิจการแพกุ้งที่เป็นกิจการของครอบครัว และรับงานบรรยายทางด้านการศึกษาที่เกี่ยวกับสื่อให้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ
สำหรับคู่รักมือใหม่ที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงาน หรือการถ่ายพรีเวดดิ้งอาจจะยังมองไม่ออก ว่าการถ่ายพรีเวดดิ้งแต่ละครั้งต้องใช้สตังค์เท่าไหร่ ลองมาวางแผนกันดู
- ใช้เวลานั่งปรึกษากับคู่รักของคุณถึงสไตล์ และ concept ที่ทั้งสองเห็นตรงกัน อาจจะมีตบตีกันบ้างในเรื่องสไตล์ แต่มันจะต้องมีสิไอเดียที่ตรงกันมากที่สุด
- เมื่อได้ข้อ 1 แล้ว คราวนี้ต้องมาวางแผนเรื่องสถานที่ให้ตรงกับ concept ที่เราคิดไว้ อาจจะมี 2 โลเคชั่นแต่ใกล้กัน แล้วจะเดินทางอย่างไร ขับรถไป หรือไปโดยสาร หรือจะจ้างช่างภาพที่เขามีบริการครบวงจร
- เสื้อผ้า หน้าผม แต่งเองได้ไหม หรือยากได้หน้าผมที่เป๊ะมากก็ต้องจ้างช่างติดไปด้วย หรือจะแต่งครั้งเดียวตอนเช้าแล้วเรียนวิธีการซับหน้า ดูแลผม เพื่อเป็นการประหยัด
- พร๊อพ ต้องใช้หรือไม่ ต้องซื้อหาที่ไหน ถ้าต้องสั่งต้องเผื่อวันสำหรับการเดินทางของบริการขนส่ง
- ควรจะถ่ายเมื่อไหร่ แน่นอนถ่ายก่อนวันแต่งงานจะให้ความรู้สึกที่ตื่นเต้น และได้โพสต์รูปโชว์ใน social media หรือแม้แต่ใช้เป็นบัตรเชิญทางออนไลน์ได้อีก แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นว่าจะถ่ายเมื่อไหร่ ให้ย้อนไปที่ข้อ 1 concept แบบไหน แบบใบไม้ร่วง ใบไม้เปลี่ยนสี น้ำลด น้ำหลาก หน้าแล้ง หน้าหนาว ถ่ายในประเทศ หรือต่างประเทศ จองตั๋วล่วงหน้าราคาถูก ๆ และที่สำคัญเอาวันที่ร่างกายเราพร้อม
- ช่างภาพละหาจากไหน ใครดี ราคาเท่าไหร่ หรือจะสนับสนุนนักศึกษาเป็นค่าขนม และวางไอเดียร่วมกัน
- เงินจะหาจากไหน อันนี้สำคัญสุด เมื่อได้ข้อสรุป 1-6 แล้ว ต้องลงมือเก็บเงินล่วงหน้าทั้งสองคน
สำหรับงบประมาณของอาจารย์นัท อาจารย์นิ่มกับสไตล์พรีเวดดิ้ง รักเธอสะท้านทุ่ง และรักเธอที่สุดในสามพันโบกนั้นใช้งบประมาณไปประมาณ 5000 บาท ค่าน้ำมันรถจากขอนแก่น – ยโสธร – อุบลราชธานี ค่ากิน ค่าเสื้อหม้อฮ่อม ผ้าถุงของแม่ ซุ่มขังปลายืมลุงข้างบ้าน ที่ประหยัดได้ขนาดนี้เพราะบ่าวสาวและช่างภาพวางแผนกันอย่างดี เลนส์ไม่ต้องดี แต่ขอให้ช่างภาพอารมณ์ดี คู่รักอารมณ์ดี ภาพก็จะออกมาสวีวี่วีแบบนี้แหละครับ
ทุกวันนี้ Social Media เข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกยุคดิจิทัล การถ่ายพรีเวดดิ้งจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เข้ามาแทนที่การแจกการ์ด เพราะคู่รักสามารถนำภาพสวย ๆ เหล่านี้มาทำเป็น E-card ส่งเชิญแขกเพื่อมาร่วมงาน
เพื่อความมั่นใจของบ่าวสาว มาดูกันว่าทำไมถึงต้องถ่ายพรีเวดดิ้ง
- คู่บ่าวสาวได้ทดลองแต่งหน้าทำผมกับช่างแต่งหน้าให้เห็นถึงสไตล์ ความชอบ และความเหมาะกับใบหน้า และชุด
- สามารถเอาภาพไปทำ Guest Book ให้แขกเขียนอวยพรในงานแต่ง
- หรือจะเอาภาพไปทำสไลด์โชว์ในงาน หรือคั่นช่วงพิธีการ
- สามารถนำภาพพรีเวดดิ้งไปรวมกับอัลบั้มงานแต่ง
- ปริ้นภาพสวย ๆ ในชุดที่ไม่ใช่ชุดแต่งงานติดผนังบ้าน
- ใช้ตกแต่งสถานที่ในวันงานแต่งงาน
ภาพพรีเวดดิ้งจะออกมาดูดี สวยงามแค่ไหนนั้นการวางแผนเป็นสิ่งสำคัญมาก สถานที่ แสง เสื้อผ้า พร๊อพ ที่สำคัญคือคู่รักต้องรู้สึกเป็นธรรมชาติกับชุดที่ใส่ แต่งหน้าพอประมาณ หรือให้เข้ากับ concept ไม่อึดอัด เป็นตัวของตัวเอง รักษาเวลา เพื่อให้ได้แสงที่สวยงามตามที่ช่างภาพวางแผนไว้ ที่สำคัญที่สุดการวางแผนอย่างรัดกุมจะช่วยคุมงบประมาณมิให้บานปลายครับ